วิธีการที่จะได้มาซึ่ง Ebook

ช่วงหลังมานี้ ลูกค้าเริ่มสอบถามเรื่อง Ebook เข้ามามากขึ้นทั้งลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ จากการสอบถามได้ความว่า ผู้บริหารต้องการให้ห้องสมุดดูทันสมัยมากขึ้น ทำให้ห้องสมุดต้องพยายามวิถีทางที่จะตอบสนองความต้องการนั้น ลูกค้าบางท่านโทรมาปรึกษาเพราะรู้สึกเหมือนถูกหลอก บางแห่งรู้สึกเฟลเพราะมีแล้วไม่มีสมาชิกสนใจใช้บริการเลย ทั้งที่เสียงบประมาณลงทุนไปไม่น้อย

ก่อนหน้านี้เคยเล่าถึง Ebook อยู่เป็นระยะๆ ถึงตอนนี้ขอเรียบเรียงใหม่ พร้อมเสริมเนื้อหาเพิ่มเติมที่ได้จากการพูดคุยสอบถาม ประกอบความคิดเห็นส่วนตัว เผื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าที่ต้องการมี Ebook ได้อ่านเป็นข้อมูลเบื้องต้นนะครับ

ห้องสมุดจะมี Ebook ได้ 4 วิธีครับ คือ

  1. โหลด Ebook แจกฟรี หรือนำลิงค์มารวบรวมไว้
  2. ซื้อ Ebook จากสำนักพิมพ์ที่ให้บริการโดยตรง
  3. ซื้อจากโบรคเกอร์ที่ทำหน้าที่ในการรวบรวม Ebook จากสำนักพิมพ์ต่างๆ นำมาเสนอขาย และ
  4. ทำ Ebook ขึ้นมาเอง จากเอกสาร หนังสือ วิทยานิพนธ์ ผลงานวิชาการ ฯลฯ ที่เป็นลิขสิทธิ์ขององค์กรหรือหน่วยงานของตนเอง

ข้อ 1 เอาจริงๆ จนถึงขณะนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า การ Download Ebook จากแหล่งที่แจกฟรี ไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานราชการ หรือสำนักพิมพ์ต่างๆ มาให้บริการต่อ จะทำให้มีปัญหาลิขสิทธิ์หรือไม่ ที่แนะนำได้คือ ต้องสอบถามจากหน่วยงานนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรง หากไม่สะดวกที่จะสอบถาม การนำ Link EBook แจกฟรี แต่ละเล่ม มาแปะไว้ (แทนที่จะดาวน์โหลดมา) น่าจะมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์น้อยกว่า

ข้อ 2 คือการซื้อจากสำนักพิมพ์โดยตรง จริงๆ แล้ว ดูจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่จากการสอบถามก่อนหน้านี้ พบว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มักจะเลือกที่จะขาย Ebook ถึงผู้อ่านโดยตรงมากกว่าที่จะขายให้ห้องสมุด เพื่อนำไปให้สมาชิกยืมต่อ อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มว่า บางที่เริ่มเปลี่ยนแนวความคิดนี้แล้ว หากสนใจ Ebook ของสำนักพิมพ์ไหน คงต้องสอบถามโดยตรง

ข้อสังเกตคือ การบริหารจัดการสิทธิ์การยืมคืนต่างๆ ของแต่ละสำนักพิมพ์แต่ละแห่งจะแยกจากกันเด็ดขาด หมายความว่า หากห้องสมุดซื้อ Ebook จากสำนักพิมพ์ A, B, C, D ฯลฯ จะต้องมีลิงค์ เข้าเว็บหรือ Application (บน Smart Device เช่นมือถือ) ของแต่ละสำนักพิมพ์แยกจากกัน สมาชิกจะหาหนังสือเนื้อหาใดๆ ก็ต้องเข้าไปค้นหาทีละลิงค์ๆ หรือทีละ App ซึ่งไม่สะดวกอย่างยิ่ง

ข่าวดีคือมี มีผู้ให้บริการ ที่ทำให้ห้องสมุดสามารถค้นหา Ebook ได้จากการค้นเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็น Ebook ของที่ใดๆ (แต่การเปิดอ่านต้องเป็นไปตามสิทธิ์อยู่ดี) ข่าวร้ายคือ จากการบอกเล่าของลูกค้า พบว่า ราคาของการให้บริการนี้อยู่ที่เลข 7 หลัก

ข้อ 3 ซื้อจากโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันมีหลายที่ แต่ละที่มีเงื่อนไขในการซื้อที่แตกต่างกันออกไป บางบริษัท ห้องสมุดมีงบเพียงหลักหมื่นก็สามารถเลือกซื้อ Ebook มาให้บริการได้ แถมไม่มีค่าบริการรายปี แต่บางแห่งต้องใช้งบหลักล้าน และมีค่าบริการรายปี ข้อด้อยประการหนึ่งของการซื้อจากโบรกเกอร์คือสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ นอกจากไม่นิยมขายให้ห้องสมุดตามที่เล่าตอนต้นแล้ว ยังไม่นิยมขายผ่ายโบรกเกอร์ด้วย หนังสือดีเด่นดัง จากสำนักพิมพ์ใหญ่ จึงอาจไม่มีให้เลือกซื้อ

ข้อ 4 ทำ Ebook จากหนังสือ เอกสารที่เป็นลิขสิทธิ์ขององค์กรหรือหน่วยงานเอง วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด เรียกได้ว่า แทบไม่ต้องเสียเงินงบประมาณเลย และสำหรับห้องสมุดเฉพาะเช่นของหน่วยงานราชการ ดูจะตอบสนองจุดประสงค์ของการจัดตั้งห้องสมุดมากกว่า เพราะจะมีสื่อที่มีองค์ความรู้เฉพาะด้าน ที่อาจหาไม่ได้จากห้องสมุดอื่น เช่นห้องสมุดกรมส่งเสริมสหกรณ์ ห้องสมุดกรมส่งเสริมการเกษตร จะนำผลงานวิชาการของนักวิชาการในกรม มาทำเป็น Ebook และเผยแพร่ ห้องสมุดกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดทำ Ebook หนังสือเอกสารที่เกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรม ที่อาจหาไม่ได้จากแหล่งอื่นมาให้บริการ เป็นต้น หรืออย่างสถานศึกษาเช่นโรงเรียน อาจให้นักเรียน นักศึกษา ส่งรายงาน ผลงานการค้นคว้า วิทยานิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ เป็นไฟล์เพื่อนำไปทำเป็น Ebook หรือห้องสมุด นำหนังสือรุ่น หนังสืออนุสรณ์ ฯลฯ จัดทำเป็น Ebook

ความเห็นส่วนตัว การทำ Ebook เองตามข้อ 4 น่าจะเป็นวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะเป็น Ebook ที่อาจมีเพียงแหล่งเดียว หาจากที่อื่นไม่ได้ตามที่ว่า แถมแทบจะไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดทำ จากการพูดคุยกับลูกค้า ส่วนใหญ่ผู้บริหารจะให้นโยบายแต่ไม่ให้งบประมาณที่มากเพียงพอ ทำให้บางแห่ง ซื้อ Ebook มาให้บริการได้เพียงหลักร้อยเล่ม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้สมาชิกเข้าค้นหา หรือมาใช้บริการ เทียบกับการหอสมุดแห่งชาติที่มีหนังสือนับหมื่นๆ เล่ม

ส่วนวิธีที่ 1 โดยเฉพาะการนำเฉพาะลิงค์มา น่าจะเป็นวิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องเสียงบประมาณเช่นกัน เพียงแต่ต้องสอบถามให้มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาลิขสิทธิ์ บริษัทที่ทำโปรแกรมห้องสมุด หรือโบรกเกอร์ขาย Ebook มักใช้วิธีการนำ Ebook ที่แจกฟรีเหล่านี้มา Add ไว้ในรายการ Ebook เพื่อให้ดูมี Ebook ให้บริการมากขึ้น

แต่ปัญหาจากการบอกเล่าของลูกค้าที่เคยใช้บริการบริษัทบางแห่งคือ Ebook ที่บริษัทเหล่านี้ นำมา Add ให้และระบุว่าฟรี ส่วนใหญ่เป็นหนังสือเก่า เนื้อหาตกยุค เนื้อหาไม่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นที่นิยม เขียนโดยนักเขียนโนเนม สำนักพิมพ์โนเนม ที่เรามักพบในกองหนังสือลดราคา ทำให้สมาชิกห้องสมุดไม่สนใจ

สุดท้ายโครงการ Ebook ก็ล้มเหลว ต้องยกเลิก เพราะต้องเสียค่าบริการรายปี บริษัทอาจไม่ได้หลอก แต่ไม่ได้บอกว่า Ebook ที่แถมเป็นอย่างไร สุดท้ายเมื่อนำมาใช้แล้ว จึงได้เห็นว่า Ebook มันไม่โอเค ถึงไม่หลอก ก็รู้สึกเหมือนถูกหลอก

สรุป หากต้องการให้ห้องสมุดมี Ebook ไว้ให้บริการยืมคืนออนไลน์ และมีงบประมาณพอสมควร แนะนำให้ซื้อผ่านโบรกเกอร์ โดยเลือกซื้อหนังสือตามต้องการตามงบประมาณ การบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงการบริการยืมคืน โบรกเกอร์จะเป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องลิขสิทธิ์

หากมีโปรแกรมห้องสมุดอยู่แล้ว และโปรแกรมนั้นรองรับการใส่ Ebook เข้าไปในระบบลงทะเบียน สามารถจัดหา Ebook มาให้บริการได้ ด้วยวิธีที่ 1 และ วิธีที่ 4 ซึ่งแทบจะไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดทำ แถมในการสืบค้น สามารถเลือกได้ว่าจะสืบค้นทั้งหนังสือ Ebook และสื่ออื่นๆ หรือจะเลือกสืบค้นเฉพาะหนังสือที่มีตัวเล่มในห้องสมุด หรือจะสืบค้นเฉพาะ Ebook ก็ได้

และไม่เฉพาะ Ebook เท่านั้น โปรแกรมห้องสมุดเช่น Digital Librarian สามารถรองรับการใส่ไฟล์ในรูปแบบต่างๆ เช่น วิดิโอ ภาพ เสียง ไว้ในระบบลงทะเบียนและให้สมาชิกเปิดดู อ่าน ฟัง ได้ด้วย

บางส่วนของเรื่องที่เล่านี้ อาจไม่ถูกต้องครอบคลุม 100% ผู้เขียนต้องการให้เป็นข้อมูล ให้ผู้อ่านตั้งเป็นประเด็น หรือฉุกคิด เพื่อนำไปพูดคุยสอบถามจากผู้ให้บริการโดยตรง

แถมท้ายเรื่องการทำ Ebook เองนะครับ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องยาก แถมถ้ามี Ebook ไม่มากก็สามารถทำได้ฟรีอีกด้วย เพียงแค่มีไฟล์ pdf เท่านั้น (ไฟล์ pdf อาจ save as จากไฟล์ Microsoft word, Excel ฯลฯ หรือถ้าไม่มีก็สแกนเป็นภาพก็ได้) ลองเข้า google แล้ว พิมพ์ โปรแกรมทำ Ebook ฟรี ก็จะพบ ทั้งตัวโปรแกรม วิดิโอสอนวิธีใช้งาน ซึ่งง่ายมากๆ ไปลองดูนะครับ