ควันหลง !! จากงานสัมมนาประจำปีสมาคมห้องสมุดฯครับ มีบรรณารักษ์บางท่าน ถามถึงเรื่อง Marcสาเหตุ ก็เพราะได้ข้อมูลจากบริษัทแห่งหนึ่งว่า โปรแกรมเขาใช้งานง่าย และถูกต้องตามมาตรฐาน Marc ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล และใช้กันทั่วโลก โดยสาธิตการ catalog ให้ดูด้วย ซึ่งก็ดูง่ายดี
เดือดร้อนผมหล่ะสิครับ ต้องอธิบายว่าที่ว่า ถูกต้องตามมาตรฐานจะถูกต้องได้อย่างไร และง่ายนั้น ง่ายจริงหรือ?
ผมขออธิบายตามที่ได้ค้นคว้ามานะครับ Marc คือมาตรฐานที่กำหนดวิธีการลงทะเบียนทรัพยากรสารนิเทศ เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันระหว่างห้องสมุดผ่านคอมพิวเตอร์ี โดยมีกฎเกณฑ์ในการลงรายการมากมาย การจะลงรายการให้ถูกต้องตามมาตรฐานอยู่ที่ความรู้ของบรรณารักษ์ เท่าที่ทราบไม่มีโปรแกรมไหนทำให้การลงทะเบียนถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรฐานโดยอัตโนมัติ เหมือนกับที่เราไม่สามารถใส่ชื่อเรื่อง หรือหัวเรื่องแล้วหวังจะให้โปรแกรม ระบุเลขหมู่ เลขผู้แต่งได้อย่างถูกต้อง สมมติ จะลงรายการชื่อผู้แต่ง สำหรับ Marc ต้องแบ่งเป็นผู้แต่งหลัก ผู้แต่งร่วม เป็นสถาบัน หรือบุคคล ซึ่งต้องใช้ Tag ที่ต่างกัน และต้องมีการระบุ Subfield ว่า ในส่วนของชื่อต้องใช้ Subfield อะไร นามสกุล ปีเกิด ฯลฯ ต้องใช้ Subfield อะไร
นอกจากนี้ วิธีการเรียงลำดับการลงชื่อ นามสกุล ที่ต่างกัน เช่นชื่อนำหน้า หรือนามสกุลนำหน้า Marc ก็กำหนดให้ต้องประกาศไว้ด้วยตัว Indicators ดังนั้นการลงรายการผู้แต่งหลักที่ Tag รหัสผู้แต่งแล้ว คิดว่าจบ และถูกต้องตามมาตรฐาน Marc แล้ว จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่มากครับ
มีคำถามว่า แล้วทำไม โปรแกรมที่ให้ลงแบบ Marc ได้ ถึงให้ worksheet ในการลงทะเบียนเพียงแค่ แผ่นครึ่งแผ่นเท่านั้น ผมให้แง่คิดว่า ถ้าให้หนังสือคู่มือหนาเป็นนิ้ว ท่านยังอยากจะใช้ Marc อยู่หรือไม่ ท่านอยากจะใช้โปรแกรมนั้นอยู่ไหม…
ผมไม่อยากจะคิดว่า มีการหมกเม็ดเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ถ้าลงรายการในรูปแบบหน้าจอแบบ Marc แล้วจะเป็นมาตรฐานโดยอัตโนมัติ แต่ก็คิดไม่ออกว่า ทำไมไม่อธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
อย่างไรก็ตาม ถามว่า ถ้าลงแค่ชื่อนามสกุลผู้แต่งที่ Tag 100 โดยไม่สนใจ Subfield หรือ Indicator จะผิดไหม ผมว่า ถ้าทำเพื่อใช้กันเองก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากต้องการเผยแพร่ในวงกว้าง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ หน่วยงานอื่นที่เขาจริงจังกับเรื่องนี้ คงไม่เหมาะครับ
หมายเหตุ: จากประสบการณ์ในวงการห้องสมุดพบว่า การลงรายการแบบ Marc ถูกเขียนเพื่อจุดประสงค์บางอย่างในการประกวดราคา ในยุคสมัยหนึ่ง บรรณารักษ์หรือผู้ออก spec ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า Marc คืออะไร และเมื่อได้โปรแกรมนั้นมาแล้ว ก็มักไม่ได้ใช้ หรือใช้ตามมีตามเกิด
สำหรับ Digital Librarian รองรับการลงรายการในรูปแบบ Marc และรองรับการนำเข้า (Import) Marc จากที่อื่นเข้าระบบได้เช่นกัน
สุดท้ายนี้ ขอเรียนว่า ถ้าท่านเลือกโปรแกรมที่รองรับ Marc ย่อมได้เปรียบ เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ Marc จะทำให้บรรณารักษ์ห้องสมุดแต่ละที่ ไม่ต้องมานั่งลงทะเบียนหนังสือที่ซื้อมาทุกเล่มด้วยตัวเอง แต่จะเป็นการดึงข้อมูลจากที่อื่นมาลงในฐานข้อมูล (import) เช่นจากเว็บของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในกลุ่มและเผื่อแผ่ถึงห้องสมุดอื่นๆ นอกกลุ่ม รวมถึงเว็บไซต์ของต่างชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับห้องสมุดที่มี Text book เป็นภาษาอังกฤษ เช่นหนังสือแพทย์ หนังสือเฉพาะด้าน หนังสือ Howto ต่างๆ เป็นต้น
อย่าคิดว่า ลงเองก็ได้ไม่เห็นจะเป็นปัญหาเพราะโลกจะก้าวต่อไปเรื่อยๆ อย่าปล่อยให้โลกของท่านของสมาชิกของท่าน หยุดนิ่ง หรือล้าหลัง เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพงาน คุณภาพคน