อยากให้สมาชิกสืบค้นผ่าน Internet – ต้องทำอย่างไร?

Update – ราคาคลาวด์ตอนนี้ ลดลงพอสมควรแล้วครับ และมีหลายเจ้าให้เลือกเช่าใช้ เหลือเพียงปีละหลักพันบาท จึงยิ่งเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น –

ช่วงที่ผ่านมา มีลูกค้าเก่าจำนวนไม่น้อย สอบถามเข้ามากันมากเกี่ยวกับ วิธีการและแนวทางการปรับเปลี่ยน การให้บริการสืบค้นข้อมูลจากเดิมที่ค้นได้เฉพาะในห้องสมุด หรือในองค์กร เป็นการให้บริการสืบค้นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ไม่เฉพาะสมาชิกในองค์กรเท่านั้นที่ค้นได้ แต่ให้บุคคลภายนอกสามารถสืบค้นได้ด้วยเช่นกัน และเป็นการค้นแบบ ทุกที่ ทุกเวลา เหมือนที่เราสามารถสืบค้นหนังสือและสิ่งพิมพ์จากห้องสมุด รัฐสภาอเมริกัน หรือห้องสมุดอื่นๆ ทั่วโลก เป็นต้น

ทางเลือกมีทั้งแบบเสียเงิน ไม่เสียเงิน ซึ่งแบบไม่เสียเงินก็เคยนำเสนอไปแล้วเมื่อปี 2014 แต่ต้องยอมรับว่า การทำมันยุ่งยากพอสมควร แต่ก็ตามสโลแกนครับ ของฟรีไม่มีในโลก อย่างใช้ฟรีต้องเสียเวลาลงแรง เรียนรู้และแก้ปัญหาไปกับมัน

วันนี้ขอนำเสนอของไม่ฟรี แต่ราคาก็ไม่สูงจนต้องหน้ามืด 3 ทางครับ

  1. เช่าพื้นที่ Host (และใช้โปรแกรม Client-Server แบบที่คุ้นเคยและใช้งานง่าย) ราคาค่าเช่าปีละไม่กี่ร้อยบาท แต่ต้องยุ่งยาก เพราะต้องอัพข้อมูลเป็นระยะๆ และข้อมูลก็ไม่ realtime คือ เมื่อมีการยืมหนังสือหลังอัพข้อมูล สมาชิกมาค้นเจอหนังสือเล่มนั้นบน Internet ยังจะพบว่า หนังสือมีพร้อมให้บริการทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่อยู่แล้ว
  2. เช่าพื้นที่ Host (และใช้โปรแกรมแบบ Web Application) อันนี้บอกตรงๆ ว่า ไม่ค่อยเวิร์คเพราะข้อจำกัดของโปรแกรมแบบนี้ ทำให้การทำงานมีขั้นตอน เปลี่ยนหน้าไปมาตลอด แถมมีข้อจำกัดในการกำหนดตำแหน่งการพิมพ์ พวกลาเบลติดหนังสือ ทำให้ไม่เป็นที่นิยม แต่ข้อดีคือ ข้อมูลจะเป็นแบบ realtime ยืมปุ๊บ สถานะบนหน้า internet แจ้งว่าถูกยืมทันที

Library on Cloud ทางเลือกที่ 3 ที่ดีที่สุด

  1. ใช้บริการ Cloud VPS เป็นแบบ Library on Cloud เป็นการเช่า Server กับผู้ให้บริการ แต่ราคาสูงกว่าแบบเช่า Host คือตกประมาณเดือนละ 600-700 อัพ ตีซะว่า ราคาต่อปี รวมค่าจดทะเบียนโดเมนเนมเป็นชื่อของห้องสมุดเอง ก็อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อปี บวกลบขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ต้องการใช้ ข้อดีคือ ได้ใช้โปรแกรม Client-Server อย่างมีความสุขต่อไป ไม่ต้องมี Server ในห้องสมุดอีกแล้ว ขณะที่สามารถเปิดให้บริการสืบค้นผ่าน Internet ได้อย่างสมบูรณ์ ยืมปุ๊บ คนค้นรู้ปั๊บ

ทั้งหมดนี้ ส่วนตัวคิดว่า ข้อ 3 คือ Library on Cloud เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่จะทำได้ หรือได้ทำหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในองค์กรด้วยครับว่า จะยอมแลกเงินปีละหลักหมื่น กับการยกระดับการให้บริการให้กับสมาชิกหรือประชาชนทั่วไปหรือไม่

หมายเหตุไว้สักนิด กรณีทางเลือกที่ 3 หากใช้ระบบ สืบค้นผ่าน Smartphone หรือ Tablet บนระบบ andriod ก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ไปเต็มๆ การค้นไม่ต้องจำกัดอยู่เฉพาะในห้องสมุดเท่านั้น กล่าวคือ สมาชิกหรือบุคคลทั่วไป สามารถค้นได้ทุกที่ทั่วโลก แทนที่จะต้องเดินเข้าห้องสมุด กด Connect เข้า wifi ห้องสมุด เพื่อจะค้นหาหนังสือ

สวัสดีครับ.